ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) คือ ภาษี ประเภทหนึ่งตาม ประมวลรัษฎากร ซึ่งจัดเก็บจากมูลค่าของการซื้อขายสินค้าหรือการให้บริการในประเทศ และการนำเข้าสินค้าโดยมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บ
อัตราภาษี
- อัตรา 7% ใช้สำหรับธุรกิจขายสินค้าหรือบริการทุกชนิดรวมทั้ง การนำเข้า อัตรานี้รวมภาษีท้องถิ่นไว้แล้ว
- อัตรา 0% มีผลเท่ากับไม่ต้องเสียภาษีจากการขายสินค้าหรือ การให้บริการ และยังได้รับคืนภาษีซื้อ
อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 0 ใช้สำหรับการประกอบกิจการ
- การส่งออกสินค้าของผู้ประกอบกิจการจดทะเบียน
- การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการในต่างประเทศตามประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
- การให้บริการขนส่งระหว่างประเทศโดยอากาศยานหรือเรือเดินทะเลที่กระทำโดยผู้ประกอบกิจการที่เป็นนิติบุคคล
- การขายสินค้าหรือการให้การบริการแก่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามโครงการเงินกู้หรือเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ
- การขายสินค้าหรือการให้บริการกับองค์การสหประชาชาติ
- การขายสินค้าหรือการให้บริการที่ก่อให้เกิดสินค้าที่มีรูปร่าง หรือ การให้บริการที่ไม่ก่อให้เกิดสินค้าที่มีรูปร่าง แต่ทำให้สินค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือมีมูลค่าเพิ่มขึ้นระหว่างคลังสินค้าทัณฑ์บนด้วยกัน หรือระหว่างผู้ประกอบกิจการที่ประกอบกิจการอยู่ใน เขตอุตสาหกรรมส่งออก ไม่ว่าจะอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออกเดียวกันหรือไม่ รวมทั้งการขายสินค้าหรือการให้บริการระหว่างคลังสินค้าทัณฑ์บนกับผู้ประกอบกิจการที่ประกอบกิจการอยู่ในเขตอุตสาหกรรมส่งออก
ผู้ประกอบการที่มียอดขายทั้งปีเกิน 1.8 ล้านบาท โดยปกติจะถูกบังคับให้จดทะเบียน VAT ตามกฎหมายภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษีเกิน 1.8 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นสินค้าที่ได้รับยกเว้น ก็จะไม่ต้องเสีย VAT
การยื่นแบบภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ผู้ประกอบการจะต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อและภาษีขาย สรุปยอดประจำเดือนด้วยแบบ ภ.พ.30
- ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปม่ว่าจะมีรายรับเกิดขึ้นหรือไม่ และมีหน้าที่ต้องออก ใบกำกับภาษี ด้วย
- ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ = ภาษีขาย – ภาษีซื้อ ภาษีขาย > ภาษีซื้อ = ต้องชำระตามส่วนแตกต่าง
ภ.พ. 30 | แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการจดทะเบียนใช้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี โดยยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ |
ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้แยกยื่นและชำระภาษีเป็นรายสถานประกอบการ ทั้งนี้เว้นแต่ผู้ประกอบการมีความประสงค์จะยื่นแบบฯ และชำระภาษีรวมกันก็ทำได้ โดยต้องขออนุมัติต่อกรมสรรพากรตามแบบ ภ.พ. 02 ก่อน
ใบกำกับภาษี
ใบกำกับภาษี เป็นหลักฐานแสดงจำนวน ภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่คำนวณได้จากมูลค่าสินค้าหรือบริการ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีทุกครั้งเมื่อเกิดการซื้อสินค้าหรือให้บริการ
องค์ประกอบของใบกำกับภาษี โดยปกติ ใบกำกับภาษีที่ถูกต้องจะต้องประกอบด้วยรายการดังต่อไปนี้
1.คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
2.ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
3.ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
4.หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี (และหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี)
5.ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
6.จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้า/บริการให้ชัดแจ้ง
7.วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
8.ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด